วันพฤหัสบดีที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

การเลี้ยงสุนัขพันธุ์ โกลเด้น รีทรีฟเวอร์

ประวัติความเป็นมา
เจ้าสีทองพันธุ์นี้ปรากฏขึ้นในลักษณะที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ในเมืองอังกฤษในทศวรรษที่ 1860 เป็นสุนัขที่พัฒนาสายพันธุ์มาจากสุนัขในกลุ่มสแปเนี่ยล ซึ่งเป็นสุนัขที่มีความเชี่ยวชาญทางน้ำเป็นพิเศษ โดยมีขนาดเล็กกว่าสุนัขพันธุ์นิวฟาวน์แลนด์ แต่มีลักษณะโครงสร้างที่คล้ายคลึงกัน สันนิษฐานว่าอาจผสมข้ามพันธุ์มาจากสุนัขพันธุ์ไอริชเซทเทอร์ และสุนัขในกลุ่มวอเตอร์สแปเนี่ยล โดยอาจมีสายเลือดของสุนัขพันธุ์บลัดฮาวน์เข้าไปเจือปนอยู่ด้วย
ต่อมาในปลายศตวรรษที่ 19 สุนัขพันธุ์โกลเด้นรีทรีฟเวอร์หรือที่บางคนเรียก เยลโล่ รีทรีฟเวอร์ (YELLOW RETRIEVER ) ก็เป็นที่รู้จักและนิยมเลี้ยงกันแพร่หลายในประเทศอังกฤษ จนในปี ค.ศ. 1908 ก็ได้จัดให้มีการประกวดสุนัขพันธุ์นี้ขึ้นเป็นครั้งแรกที่คริสตัลพาเลซ และหลังจากนั้นไม่นานก็ได้มีการจัดตั้งชมรมสุนัขพันธุ์นี้ขึ้นมาโดยเฉพาะ
สำหรับในอเมริกา โกลเด้น รีทรีฟเวอร์เริ่มเป็นที่นิยมเลี้ยงกันแพร่หลายในราวปี
ค.ศ. 1930 เป็นต้นมา โดยชาวอเมริกันส่วนใหญ่จะเลี้ยงโกลเด้น รีทรีฟเวอร์ไว้เพื่อเป็นนักล่า แม้ทางสมาคม AKC ของสหรัฐอเมริกาจะให้การรับรองสุนัขพันธุ์นี้เข้าไว้ในทำเนียบตั้งแต่ปี ค.ศ. 1925 แล้วก็ตาม แต่ก็ไม่ค่อยได้รับจากผู้เลี้ยงที่คิดอยากจะส่งสุนัขเข้าประกวดซักเท่าไหร่ เนื่องจากผู้เลี้ยงสุนัขพันธุ์นี้ส่วนใหญ่ให้ความสนใจกับประสิทธิภาพของการใช้งานมากกว่าการประกวด และในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1977 ทางสมาคม AKC ก็ได้จัดให้มีการประกวดความสามารถและความฉลาดแสนรู้ของสุนัข ซึ่งผลปรากฏว่าสุนัขที่ได้รางวัลที่ 1-3 ล้วนเป็นสุนัขพันธุ์โกลเด้น รีทรีฟเวอร์ทั้งสิ้น จากผลการประกวดในครั้งนั้นทำให้ชาวอเมริกันเริ่มเกิดความตื่นตัว และหันมาให้ความสนใจเลี้ยงสุนัขพันธุ์นี้มากขึ้น
สำหรับในด้านของสายพันธุ์ ในยุคสมัยแรกๆ โกลเด้น รีทรีฟเวอร์จะมีสีเฉพาะสีทองหรือสีน้ำตาลออกไปทางเหลือง ( ซึ่งก็มีด้วยกันหลายเฉด ) แต่พอมาในช่วงหลังๆ ก็ได้เกิดสายพันธุ์ใหม่ ซึ่งมีขนสีน้ำตาลเข้มหรือน้ำตาลไหม้ ซึ่งสีนี้ก็เป็นสีที่นิยมมากพอสมควรทั้งในยุโรปและอเมริกา เนื่องจากเป็นสีที่แปลกใหม่

ลักษณะทั่วไปของโกลเด้น รีทรีฟเวอร์


ลักษณะทั่วไป : โครงสร้างได้สัดส่วน และดูแข็งแกร่งทรงพลัง เป็นสุนัขที่มีความกระตือรือร้นตลอดเวลา ค่อนข้างสงบเสงี่ยม ไม่ส่งเสียงโดยไม่มีเหตุผล มีขนาดปานกลาง ไม่เทอะทะเก้งก้างจนดูเกะกะ และเป็นสุนัขที่มีนิสัยค่อนข้างจะเป็นมิตรกับทุกๆ คน ดังนั้นจึงสามารถพาไปไหนมาไหนโดยไม่สร้างปัญหา มีความเฉลียวฉลาด ว่านอนสอนง่าย เป็นสุนัขที่มีความปราดเปรียวและอดทน ลีลาในการย่างก้าวหรือไหวเป็นไปด้วยความนิ่มนวล
อุปนิสัย : มีความกระตือรือร้นตลอดเวลา ค่อนข้างสงบเสงี่ยม ไม่ส่งเสียงโดยไม่มีเหตุผล มีขนาดปานกลาง ชอบอยู่ใกล้ชิดกับคน เมื่อเจอคนแปลกหน้ามักจะกระดิกหางวิ่งเข้าไปต้อนรับ จึงไม่เหมาะที่จะใช้นำมาเฝ้าบ้านเพราะมันไม่มีลักษณะนิสัยที่ก้าวร้าวต่อคนแปลกหน้า แม้บางครั้งจะเห่าเสียงดังเมื่อมีคนแปลกหน้าล่วงล้ำเข้ามาในอาณาเขต แต่ลักษณะการสะบัดหางด้วยท่าทีเป็นมิตร จะทำให้คนแปลกหน้าที่คุ้นเคยกับสุนัขมาก่อนทราบว่ามันเห่าด้วยความดีใจมากกว่าจะเห่าไล่หรือตรงเข้าไปทำร้าย นอกจากนั้นมันยังชอบที่จะเป็นศูนย์กลางการเอาใจใส่จากเจ้าของ มันมักคิดว่าตัวเองเป็นเพื่อนสนิทของเจ้าของ และคิดว่ามันเป็นมนุษย์คนหนึ่งเหมือนกัน เห็นได้จากการที่มันมักกระโดดขึ้นไปวางท่านั่ง หรือนอนบนเก้าอี้หรือโซฟา
ศีรษะ : กะโหลกใหญ่และกว้างโค้งได้รูปสวยงาม ไม่หยักเป็นร่องลึกหรือโหนกนูนจนมีลักษณะเป็นรูปโดม ช่วงรอยเชื่อมระหว่างจมูก ปาก และหน้าผาก มีความลาดเล็กน้อยแต่ไม่ถึงกับหัก หรือเชื่อมต่อเป็นเส้นตรงเดียวกัน ใบหน้าลึกและกว้างขนาดพอๆ กับศีรษะ, สันจมูก, ปาก เป็นเส้นตรงเวลามองจากด้านข้างปลายจมูก ปากค่อยๆ ขยายใหญ่ขึ้นรับกับขนาดของกะโหลกศีรษะ ลักษณะรูปทรงคล้ายลิ่มแลดูแข็งแกร่ง หนังย่นบริเวณหน้าผากอนุโลมให้มีได้ แต่ลักษณะของใบหน้าที่สวยงาม หนังบริเวณใบหน้าควรจะเรียบตึง
ฟัน : ต้องขบกันได้แนบสนิทเหมือนกรรไกร โดยฟันด้านหน้าแถวบนขบเกยอยู่ด้านนอก ซึ่งลักษณะของฟันสำหรับสุนัขพันธุ์โกลเด้น รีทรีฟเวอร์ถือเป็นเรื่องสำคัญมาก เนื่องจากเป็นสุนัขที่มีหน้าที่ในการเก็บหรือคาบเหยื่อ ดังนั้นอำนาจในการขบกัดจึงเป็นเรื่องสำคัญ หากสุนัขมีฟันหน้าชุดบนและชุดล่างขบเสมอกันพอดีเหมือนประตูลิฟท์ถือว่าใช้ไม่ได้ แต่ยังพออนุโลมผ่อนผันให้ได้ เว้นแต่ฟันหน้าชุดล่างขบเกยอยู่ด้านนอก หรือฟันหน้าชุดบนและล่างขบเกยไม่สนิทกันถือเป็นข้อบกพร่องร้ายแรง ถ้าฟันมีคราบหินปูนเกาะ ฟันผุ หรือฟันมีลักษณะเว้าแหว่งถือเป็นข้อบกพร่องร้ายแรงเช่นกัน
จมูก : จะต้องเป็นสีดำหรือสีน้ำตาล ส่วนจะเข้มหรืออ่อนก็ขึ้นอยู่กับสีขน แต่ถ้าจมูกเป็นสีชมพูถือเป็นข้อบกพร่องร้ายแรง
หู : ควรสั้นพอประมาณ ใบหูมีลักษณะห้อยปกลงแนบกับส่วนแก้ม รูปทรงค่อนไปทางรูปสามเหลี่ยม ปลายมน เวลาดึงใบหูไปด้านหน้าความยาวของใบหู หูควรปกคลุมลูกตาได้พอดี แต่ถ้าหากฐานใบหูตั้งอยู่ในตำแหน่งต่ำเกินไป หรือหูมีลักษณะเหมือนสุนัขในกลุ่มฮาวน์ หรือดัชชุน ถือเป็นข้อบกพร่อง
ลำคอ : ควรยาวพอประมาณ ลำคอควรตั้งบนหัวไหล่ แลดูมั่นคงกล้ามเนื้อแลเห็นเด่นชัด ขนบริเวณรอบคอห้ามมีการตกแต่ง คอต้องไม่มีเหนียงยื่นโผล่ออกมา
ลำตัว : โครงสร้างลำตัวกระชับได้สัดส่วน อกลึกและกว้าง ความกว้างของอกอย่างน้อยควรมีขนาดพอๆ กับ ฝ่ามือของผู้ชายวางทาบเสมอพอดี ส่วนความลึกของอกควรลึกเสมอข้อศอกขาหน้า กระดูกซี่โครงควรโค้งได้รูปแข็งแรง โดยส่วนแผ่นหลังจะแลดูหนากว่าใต้ท้อง ลำตัวเต็มไปด้วยกล้ามเนื้อ มีความลึกและหนาแลดูบึกบึน แผ่นหลังเรียบตรง โดยมีลักษณะลาดเทจากหัวไหล่ ไปทางบั้นท้ายเล็กน้อยไม่ว่าจะเป็นเวลายืนนิ่งๆ หรือกำลังเคลื่อนไหว โกลเด้น รีทรีฟเวอร์มีหน้าอกเล็กแคบ อกตื้น เส้นหลังแอ่นหรือลาดเทมากเกินไป หรือก้นโด่ง ลำตัวบอบบางเกินไป เวลาเคลื่อนไหวเส้นหลังแกว่ง แลดูขาดความแข็งแกร่งล้วนเป็นข้อบกพร่อง
อุ้งเท้า : มีขนาดปานกลาง เป็นรูปทรงกลม อุ้งเท้ากระชับ นิ้วเท้าไม่กางแบะออกเหมือนตีนเป็ด ขนบริเวณใต้อุ้งเท้าควรได้รับการขลิบออก เพื่อช่วยให้การยึดเกาะมั่นคงยิ่งขึ้น นิ้วติ่งขาหน้าควรกำจัดออกให้หมด แต่โดยปกติจะไม่ค่อยปรากฏนิ้งติ่งให้เห็น โกลเด้น รีทรีฟเวอร์ เวอร์ที่มีอุ้งเท้าแบะหรืออุ้งเท้าแหลมคล้ายอุ้งเท้าของกระต่าย ถือเป็นข้อบกพร่อง
หาง : ควรตั้งอยู่ในตำแหน่งสูงสุดต่อจากเส้นหลัง หางมีขนาดใหญ่โดยเฉพาะบริเวณโคนหางควรจะมีกล้ามเนื้อ ปกติหางจะมีลักษณะห้อยลงต่ำโค้งได้รูปกับสะโพก ความยาวของหางพอๆ กับมุมข้อศอกขาหลัง ในยามที่สุนัขที่ดีใจหางจะโบกสะบัดไปมา บางครั้งอาจงอม้วนขึ้นสูงเหนือระดับแผ่นหลัง
ลำตัวหน้า : เต็มไปด้วยกล้ามเนื้อ มีขนาดเหมาะสมรับกับลำตัวส่วนหลังขณะที่เดินหรือวิ่ง การก้าวย่างเป็นไปอย่างอิสระ การก้างย่างของขาอยู่ในแนวเดียวกับรัศมีของหัวไหล่ กระดูกขามีขนาดค่อนข้างใหญ่และเหยียดตรง กระดูกข้อเท้าสั้นและแข็งแรง มีความลาดเอียงเพียงเล็กน้อย
ลำตัวหลัง : หนาและแข็งแรง เต็มไปด้วยกล้ามเนื้อ บั้นท้ายมีลักษณะลาดเทเล็กน้อย กระดูกขาท่อนบนทอดไปทางด้านหลัง ส่วนกระดูกขาท่อนล่างเหยียดตรงทำมุมฉากกับพื้น โดยขาท่อนล่าง(แข้ง)ยิ่งมีขนาดสั้นเท่าไหร่ย
ขน : ขนดกแน่น สามารถปกป้องน้ำได้เป็นอย่างดี ขนมี 2 ชั้น ขนชั้นนอกจะยาวและมีลักษณะค่อนข้างแข็ง แต่ไม่ถึงกับหยาบกระด้าง เส้นขนมีความยืดหยุ่นในตัว ถ้าหากขนมีลักษณะเส้นเล็กหรือไม่ดกแน่นถือเป็นข้อบกพร่อง ลักษณะของขนที่ถูกต้องจะต้องขึ้นแนบติดลำตัว ส่วนเส้นขนจะเหยียดตรงหรือหยักศกเล็กน้อยไม่เป็นข้อบกพร่อง สำหรับขนบริเวณด้านหลังของขาและใต้ท้องจะมีลักษณะค่อนข้างอ่อนนุ่มกว่าขนตามลำตัว โดยเฉพาะขนที่บริเวณใต้คอ ด้านหลังของต้นขาหลัง และขนใต้หาง จะมีลักษณะอ่อนนุ่มเป็นพิเศษ ส่วนขนบริเวณศีรษะ ด้านหน้าของขา(หน้าแข้ง) และเท้าจะมีลักษณะสั้นและเรียบ โกลเด้น รีทรีฟเวอร์ที่มีเส้นขนยาวจนเกินไป ขนฟูเป็นกระเซิงไม่แนบติดกับลำตัว หรือมีขนเบาบางไม่ดกแน่น ขนเส้นเล็กล้วนถือเป็นข้อบกพร่อง การตัดแต่งขนจะตัดเฉพาะอุ้งเท้าเท่านั้น
สี : สีต้องเป็นสีน้ำตาลออกทอง ส่วนจะมีสีเข้มอ่อนไม่มีปัญหา ขนตามใบหน้าและลำตัวอาจจะมีเหลือบเทาหรือขาวก็ได้ แต่ถ้าเป็นรอยแต้มด่างสีขาว หรือมีขนสีขาวขึ้นแซมถือเป็นข้อบกพร่อง ยกเว้นโกลเด้น รีทรีฟเวอร์ที่มีขนสีทองอ่อน ซึ่งมีสีจืดหรือจางมากๆ และสีขาวด่างที่ปรากฏแลดูกลมกลืนกับสีขน ก็ถือเป็นข้ออนุโลม และถ้าหากพื้นที่ของสีขนส่วนใหญ่มีสีซีดจางเกินไป หรือเข้มมากเกินไปก็ถือว่าเป็นข้อบกพร่อง พูดง่ายๆ ก็คือ ถามีขนออกไปทางโทนสีครีมอ่อนๆ หรือสีน้ำตาลไหม้ ขนส่วนนี้จะต้องมีพื้นที่เป็นเพียงส่วนน้อยของขนทั้งหมด คือจะต้องมีโทนสีเข้มกว่าหรืออ่อนกว่ามาช่วยเสริม และสีขนส่วนที่จะมาช่วยเสริมต้องครอบคลุมพื้นที่ได้มากกว่า โกลเด้น รีทรีฟเวอร์บางสายพันธุ์ขณะที่ยังเป็นลูกสุนัขอาจจะมีสีซีดจาง แต่เมื่อโตขึ้นสีก็จะเข้มขึ้นโดยธรรมชาติ สำหรับโกลเด้น รีทรีฟเวอร์ที่มีสีอ่อน นอกเหนือจากที่กล่าวมาล้วนถือเป็นข้อบกพร่องร้ายแรง
การเคลื่อนไหว : การก้าวย่างเป็นไปอย่างอิสระ แลดูนุ่มนวลแต่ทรงพลังและสง่างาม เวลาที่วิ่ง ระยะการย่างก้าวของขาหน้าและขาหลังจะต้องมาบรรจบกันที่กึ่งกลางลำตัว เวลาเดินหรือวิ่งขาต้องไม่แกว่งหรือปัด ซึ่งในการประกวดการเคลื่อนไหวของโกลเด้น รีทรีฟเวอร์ถือเป็นเรื่องสำคัญมาก
ขนาด : เพศผู้ควรมีความสูงระหว่าง 23-24 นิ้ว(ความสูงวัดที่หัวไหล่ขาหน้า) ส่วนเพศเมียควรมีความสูงอยู่ในช่วงระหว่าง 21-22 นิ้ว หากความสูงน้อยกว่าหรือมากกว่ามาตรฐานที่กำหนดไม่เกิน 1 นิ้ว ถือเป็นข้ออนุโลม แต่ถ้าสูงหรือเตี้ยกว่าเกิน 1 นิ้ว จากเกณฑ์มาตรฐานถือเป็นข้อบกพร่องร้ายแรงมาก สำหรับความยาวของลำตัวโดยวัดจากหน้าอกถึงบั้นท้าย ควรมีสัดส่วนความยาวมากกว่าความสูงเล็กน้อย คือ สัดส่วน 12 :11 ส่วนน้ำหนักของสุนัขเพศผู้ควรอยู่ในช่วงระหว่าง 65-75 ปอนด์ สำหรับเพศเมีย 55-56 ปอนด์
อารมณ์ : ควรมีความเป็นมิตรกับทุกๆ คน ไม่มีนิสัยขี้หวาดระแวงและดูน่าเชื่อไว้วางใจได้ ไม่มีนิสัยก้าวร้าวดุร้าย แต่ก็ไม่ขี้ขลาดตาขาวด้วย




การเลี้ยงและดูแลโกลเด้น รีทรีฟเวอร์
ถ้าจะถามว่าโกลเดนรีทรีฟเวอร์ต้องการอะไรจากเจ้าของบ้าง คำตอบแรกก็คือความใส่ใจ เพราะเจ้าโกลเดนรีทรีฟเวอร์เป็นสุนัขที่ต้องการความใส่ใจเป็นพิเศษจนถึงขนาดเป็นส่วนหนึ่งในชีวิต เจ้าของเลยทีเดียว แน่นอนว่าพวกมัน ต้องการที่จะออกไปวิ่งเล่นในสวนรอบๆ บ้าน แต่มันก็ต้องการให้เจ้าของออกไปเล่นกับมันด้วย และหากคุณเคยออกไปใช้ชีวิต กลางแจ้งร่วมกับมันละก็ เชื่อได้เลยว่ามันกำลัง เฝ้ารอการได้ออกไปใช้ชีวิต กลางแจ้งร่วมกันคุณอีกครั้ง
การเกาคางหรือลูบหลังลูบไหล่ เป็นสิ่งที่โกลเด้นต้องการเป็นลำดับถัดมา เพราะนั่นเป็นการสื่อภาษาทางร่างกายว่าคุณรักและเอาใจใส่พวกมันอยู่เสมอ และจะยิ่งทำให้พวกมันรักและบูชาคุณมากยิ่งขึ้น
การออกกำลังกาย เป็นสิ่งที่โกลเดนรีทรีฟเวอร์ต้องการอย่างสม่ำเสมอ วิธีการออกกำลังที่เหมาะสมก็คือการพาเดิน การปล่อยให้วิ่ง หรือการโยนสิ่งของออกไปไกลๆ เพื่อให้ไปคาบกลับมา รวมทั้งการว่ายน้ำในกรณีที่มีแอ่งน้ำที่สะอาดและปลอดภัยด้วย (บางบ้านปล่อยให้ลงไปในสระว่ายน้ำ)
อาหาร ที่โกลเดนรีทรีฟเวอร์ขนาดโตเต็มวัยต้องการควรเป็นอาหาร ในระดับซุปเปอร์ พรีเมี่ยมโดยให้เพียงวันละ 1 ครั้งในปริมาณที่เพียงพอ และในระหว่างวันอาจให้บิสกิตเสริมได้วันละ 2 ครั้ง
ที่นอน เป็นอีกส่วนหนึ่งที่โกลเดนรีทรีฟเวอร์ต้องการ ผ้าปูรองนอนนุ่มๆ หาของเล่นส่วนตัวสักชิ้นสองชิ้นที่มันสามารถกัดแทะได้ เช่น กระดูกเทียม หรือลูกบอลยางวางไว้รอบตัวให้มันด้วย จะช่วยให้โกลเดนรีทรีฟเวอร์มีที่สงบและปลอดภัยสำหรับ ช่วงเวลาที่พวกมันต้องการความเป็นส่วนตัวและต้องการพักผ่อน
สิ่งสุดท้าย ที่เจ้าของสามารถตอบสนองความต้องการให้แก่โกลเดนรีทรีฟเวอร์ได้ก็คือการพาเจ้าโกลเดนรีทรีฟเวอร์ไปพบสัตวแพทย์เป็นประจำเพื่อฉีดวัคซีนที่จำเป็น รวมทั้งเช็คร่างกาย ว่าปราศจากพยาธิ และโรคภัยต่างๆ



โรคและวิธีการป้องกัน
โรคคประจำสายพันธุ์โกลเด้น รีทรีฟเวอร์ ที่พบบ่อยๆ คือ โรคข้อสะโพก โรคต้อกระจก โรคขาดฮอร์โมนไทรอยด์ โรคเนื้องอกในต่อมน้ำเหลือง โรคข้อสะโพกเสื่อม (Hip Dysplasia ) เป็นโรคกระดูกที่พบได้มากในสุนัขพันธุ์ใหญ่ ( Giant and large breed ) โดยพบมากถึง 1 ใน 3 ของโรคกระดูกทั้งหมดในสุนัขโดยโรคนี้จะมีพัฒนาการในช่วงที่มีการเจริญเติบโต ของกระดูกจึงอาจพบได้ตั้งแต่ 4-12 เดือน โรคขาดฮอร์โมนไทรอยด์ กล่าวคือ ต่อมไทรอยด์สร้างฮอร์โมนน้อยกว่าปกติ และก่อให้เกิดความผิดปกติต่างๆ ของร่างกายโดยแสดงออกทางผิวหนัง อาการที่พบคือ สุนัขจะมีอาการขนร่วง เช่น ข้างลำตัว รอบก้นและหาง หน้าอก ในสุนัขอายุมากมักพบรังแคกระจายทั่วร่างกาย อาจพบผิวหนังมีเม็ดสีสะสม มักพบเป็นสีดำ อาจมีน้ำหนักตัวมากกว่าปกติ อ่อนเพลีย ซึ่งโรคนี้มักพบในสุนัขอายุ 6-10 ปี แต่ถ้าเป็นสุนัขพันธุ์ใหญ่สามารถพบในอายุน้อยกว่า 6 ปีได้ ดังนั้น หากสุนัขของคุณมีอาการดังนี้ แนะนำให้พาสุนัขมาตรวจกับสัตวแพทย์เพื่อรับการรักษาจะดีที่สุด โรคเนื้องอกในต่อมน้ำเหลือง พบได้ทั้งชนิดที่ไม่รุนแรงและชนิดที่เป็นมะเร็ง ลักษณะที่พบคือ เป็นเนื้องอกขอบไม่เรียบและมีสีต่างๆ สามารถพบเนื้องอกที่บริเวณผิวหนังของศีรษะ ปลายเท้า หลัง และภายในช่องปาก ซึ่งโดยมากแล้วมักพบในช่องปากของสุนัข โดยสุนัขจะมีน้ำลายไหลมากผิดปกติ มีกลิ่นปาก น้ำหนักลด มีเลือดออก ฟันหลุด และไม่สามารถกินอาหารได้ ซึ่งหากผู้เลี้ยงพบอาการดังกล่าวมานี้ ควรรีบพาไปรักษาโดยเร็ว เพราะหากเป็นเนื้องอกชนิดที่มีเชื้อมะเร็ง จะมีอัตราการเสียชีวิตสูง การรักษาทำได้โดยการผ่าตัดกรณีเชื้อยังไม่แพร่กระจาย แต่หากเชื้อแพร่กระจายแล้วจะใช้วิธีเคมีบำบัด โรคต้อกระจก มักเกิดกับสุนัขที่มีอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป โดยจะมองเห็นแก้วตามีลักษณะขุ่นขาว ซึ่งสุนัขยังพอมองเห็นได้ แต่ถ้าแก้วตาขุ่นเพิ่มมากขึ้นก็จะทำให้มองไม่เห็น เนื่องจากแสงไม่สามารถผ่านเข้าไปยังจอรับภาพได้ ทั้งนี้สาเหตุเป็นเพราะโรคเบาหวาน หรือได้รับบาดเจ็บ มีแผลที่ตา อย่างไรก็ตาม โรคต้อกระจกอาจจะพบได้ในสัตว์อายุน้อยตั้งแต่เกิดจนถึง 3 ปี เนื่องจากเป็นมาตั้งแต่เกิด สำหรับการรักษา ควรรีบพาสุนัขของคุณไปพบสัตวแพทย์ เพื่อรับการตรวจและรักษาทันที หากปล่อยทิ้งไว้นาน จะทำให้การรักษายากขึ้น และอาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้ตาบอดได้


อาหารของโกลเด้น รีทรีฟเวอร์




การเลือกชนิดของอาหาร
อาหารที่ให้ อาจเป็นอาหารที่เตรียมเองหรืออาหารเม็ดสำเร็จที่มีจำหน่ายในท้องตลาด แต่จำเป็นต้องเลือกจากผู้ผลิตที่เชื่อถือได้ที่ใช้ในการพัฒนาสายพันธุ์มานาน เพราะต้องใช้วัตถุดิบเกรดดีชนิดเดียวกับที่เป็นอาหารของคน
ข้อดีของอาหารสำเร็จคือไม่ต้องใช้เวลาเตรียม สามารถนำมาให้กับสุนัขได้ทันที ควบคุมปริมาณได้และมีสารอาหารที่จำเป็นครบถ้วนเหมาะสมกับวัยและช่วงการเจริญเติบโต ข้อเสียคือมักมีราคาแพง
การเตรียมอาหารเองจะประหยัดกว่า รสชาติดีกว่า แต่จะควบคุมไม่ได้ มักจะเป็นสาเหตุให้มีไขมันเกินเกิดโรคอ้วนหรือขาดสารอาหารที่จำเป็นอยู่เสมอ
ดังนั้นหากเลือกได้จึงควรให้อาหารโกลเดนด้วยอาหารเม็ดสำเร็จ สูตรที่ใช้ก็จะมีสูตรลูกสุนัข สูตรสุนัขโต สูตรสุนัขแก่ ซึ่งความจำเป็นของสารอาหารแต่ละช่วงอายุก็จะแตกต่างกันตามความเหมาะสม การให้อาหารเม็ดจะช่วยลดกลิ่นปากและลดการสะสมของหินปูนได้อีกด้วย
สำหรับอาหารสดต้มสุกเช่นไข่ต้ม ตับบด เนื้อบด ไก่บด ต้มสุกใช้เป็นอาหารเสริมคลุกกับอาหารเม็ดช่วยเพิ่มรสชาติ หรือใช้เป็นของกินเล่นเช่นแครอท ฝรั่ง แอปเปิ้ลและกล้วยน้ำว้า ต้องเข้าใจว่าโกลเดนเป็นสัตว์กินเนื้อจึงมีระบบย่อยอาหารที่ไม่เหมาะกับพวกพืชผักสด ซึ่งจะเกิดก๊าซในกระเพาะได้หากได้รับมากเกินไป
สำหรับอาหารสำเร็จเปียกเช่นพวกอาหารกระป๋องใช้คลุกผสมในอาหารเม็ดสำเร็จเพื่อเพิ่มกลิ่นและรสชาติ และจะมีความจำเป็นในกรณีสุนัขป่วยมีอาการเบื่ออาหารและต้องการอาหารนิ่มๆที่ย่อยได้ง่าย






ปริมาณความต้องการ
ปริมาณการให้อาหารในแต่ละวันนั้นขึ้นอยู่กับอายุ ลักษณะของการใช้พลังงานและสุขภาพและลักษณะเฉพาะตัวซึ่งต้องอาศัยการสังเกตุด้วย โดยดูจากท้องหลังท้องอิ่มว่าควรพองมากกว่าชายโครงเพียงเล็กน้อย เวลาวิ่งต้องไม่กลิ้งไปมา
การดูลักษณะของขนที่สมบูรณ์จะเป็นตัวบ่งบอกการให้อาหารและได้รับปริมาณสารอาหารที่ถูกต้อง ซึ่งจะมีผลให้ขนมีความสวยเงางาม นิ่มมือและลื่นเมื่อลูบไล้ มีสีขนที่สวยงาม การที่ขนหม่นและหยาบจึงอาจมีสาเหตุจากการให้อาหารที่ไม่ครบหมู่ ขาดสารอาหารที่จำเป็น
การให้อาหารโกลเดนจะต้องให้ตามเวลาที่กำหนดไว้ โกลเดนที่โตเต็มวัยสามารถให้เพียงมื้อเดียวได้แต่จะดีกว่าหากแบ่งปริมาณเป็น 2 มื้อต่อวัน ลูกโกลเดนตัวเล็กๆควรให้ปริมาณน้อยๆแต่ถี่ กรณีทีเพิ่งหย่านมอาจจำเป็นต้องให้ทุก 15 นาที อายุสามถึงสี่เดือนควรแบ่งเป็น 3-4 มื้อต่อวัน หลังจากนั้นเมื่อโตขึ้นก็ให้ 2 มื้อต่อวัน หรืออาจให้เพียงแค่ 1 มื้อต่อวันได้ ช่วงอายประมาณ 14 อาทิตย์นี้จะเริ่มผลัดฟันน้ำนมและคันฟัน ควรหาสิ่งที่ให้เคี้ยวให้แทะเล่น
ทั้งนี้แต่ละช่วงอายุต่างๆจะมีคำแนะนำดังนี้
แต่แรกเกิด ถึง 5 สัปดาห์
ลูกสุนัขควรจะได้รับนมแม่หรือนมน้ำเหลืองเป็นหลัก โดยเฉพาะในช่วงสามวันแรกที่ร่างกายต้องการสารอาหารเพื่อเสริมสร้างภูมิต้านทาน แต่ถ้าแม่สุนัขไม่สามารถให้นมได้ คุณควรเลี้ยงลูกสุนัขด้วยนมสำหรับลูกสุนัขโดยเฉพาะ ในสัปดาห์ที่ 4 คุณสามารถเริ่มให้อาหารเม็ดสำเร็จรูปทีละน้อยๆโดยผสมกับนมอุ่นๆ ผสมกับนมอุ่นๆ
6-8 สัปดาห์ ควรเริ่มฝึกให้ทานอาหารเม็ด โดยผสมน้ำอุ่นเพื่อให้มีความอ่อนตัวไม่แข็งจนเกินไป ควรให้ประมาณวันละ 4 มื้อ ( เช้า กลางวัน เย็น และ ก่อนนอน )
9-11 สัปดาห์ ลดปริมาณน้ำอุ่นที่ผสมในอาหารลง เพราะสุนัขเริ่มทานอาหารแข็งได้แล้ว
เดือนขึ้นไป เริ่มให้เขาหัดกินอาหารเม็ด โดยไม่ต้องผสมน้ำอีกต่อไปและให้ลดเหลือเพียง 1-2 มื้อต่อวัน
3-5 เดือน ลดปริมาณน้ำอุ่นที่ผสมในอาหารลงอีก และลดจำนวนมื้ออาหารเป็นวันละ 3 มื้อ (เช้า กลางวัน เย็น)
6 เดือนขึ้นไป เริ่มให้เขาหัดกินอาหารเม็ด โดยไม่ต้องผสมน้ำอีกต่อไปและให้ลดเหลือเพียง 1-2 มื้อต่อวัน
ลูกโกลเดนอายุต่ำกว่าห้าเดือน ต้องการอาหารทั้งปริมาณและสารอาหารเพื่อการเจริญเติบโตอย่างมาก แบ่งเป็น 3-4 มื้อต่อวันโดยที่ต้องการปริมาณอาหารประมาณ 10% ของน้ำหนักตัว การให้ปริมาณอาหารมากๆและมีจำนวนมื้อต่อวันน้อยครั้งเกินไปจะทำให้โครงสร้างเสียได้
อายุได้ห้าถึงเจ็ดเดือน ลดความถี่ในการให้อาหารลงเป็น 2 ครั้งต่อวัน แต่ค่อยๆเพิ่มปริมาณให้มากขึ้นเพราะช่วงนี้เป็นช่วงที่กำลังเจริญเติบโต สังเกตว่าผอมหรืออ้วนไปหรือไม่แล้วลดหรือเพิ่มตามสัดส่วน
อายุตั้งแต่เจ็ดถึงสิบเดือน ก็จะเป็นช่วงหนุ่มสาว จะกินอาหารน้อยลง แต่ยังคงให้อาหาร 2 มื้อต่อวัน ช่วงนี้โกลเดนจะเริ่มผลัดขน จะสังเกตุได้จากขนอ่อนที่หลุดร่วงและมีขนใหม่ที่ค่อนข้างแข็งกว่าและยาวกว่าขึ้นแทน
โกลเดนที่โตเต็มที่ อาจให้อาหารเพียง 1 มื้อต่อวันได้ แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับน้ำหนักและกิจกรรมประจำวัน หากออกกำลังกายมากเช่นออกเล่นกีฬาล่าสัตว์หรือแข่งขันวิ่งข้ามสิ่งกีดขวางหรือว่ายน้ำ ก็จำเป็นที่จะต้องให้ปริมาณอาหารที่มากขึ้นโดยแบ่งเป็น 2 มื้อต่อวัน
สำหรับหมาโกลเดนแก่ จะให้อาหารคล้ายกับลูกโกลเดน ทั้งนี้พลังงานจากอาหารหากไม่ได้ถูกใช้จะถูกสะสมเป็นไขมันได้ง่าย จึงมีโอกาสเป็นโรคอ้วนได้ โปรตีนจะเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องได้รับอย่างเพียงพอ โดยต้องการไม่น้อยกว่า 15% แต่ต้องไม่มากเกินไปเพราะจะมีผลให้ไตทำงานหนักเกินไปหากได้รับโปรตีนเกินความจำเป็น
โกลเดนจะไม่เบื่ออาหารง่ายนักหากได้รับอาหารที่มีคุณค่าแบบเดิมๆตลอดชีวิต จึงไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนอาหารที่เคยกิน อาจใช้อาหารทีเตรียมเองนำมาผสมเพื่อเพิ่มกลิ่นและรสชาติได้ การเปลี่ยนอาหารทันทีอาจทำให้ท้องเสียได้ หากจำเป็นต้องเปลี่ยนจะต้องค่อยๆเปลี่ยนทีละน้อยค่อยๆเพิ่มขึ้น หากทำอย่างไรก็ไม่กินอาหารเป็นเวลา 2-3 วันจำเป็นต้องปรึกษาสัตวแพทย์โดยทันที
ข้อแนะนำสำหรับการให้อาหารสุนัข
อาหารสำเร็จรูปควรเลือกใช้ของบริษัทที่น่าเชื่อถือ
จัดน้ำสะอาดไว้ให้ตลอดเวลา
อาหารที่ให้ควรมีอุณหภูมิเท่ากับอุณหภูมิห้อง
อาหารที่มีน้ำเป็นส่วนผสมที่กินเหลือไม่ควรเก็บไว้ในมื้อต่อไป
อาหารแห้งควรทิ้งไว้วันต่อวัน
ไม่ควรปล่อยให้สุนัขอ้วนเกินไป
ห้ามให้กระดูกที่เปราะแก่สุนัข เช่นกระดูกไก่
สุนัขที่ไม่ยอมกินอาหารนานกว่า 24 ชั่วโมง อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าสุนัขเจ็บป่วย ควร
ปรึกษาสัตวแพทย์






จัดทำโดย

นางสาวสุปราณี ปาสา

เอกคอมพิวเตอร์ธุรกิจ

รหัส 49043494326

Section 01













































































































































































































































































































































ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น